แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ (พ.ศ. 2565-2570) กำหนดกรอบและทิศทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะมูลฝอย และของเสียอันตรายของประเทศ บูรณาการการดำเนินงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน และกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักในการนำมาตรการและการปฏิบัติในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยตั้งแต่จัดระบบคัดแยกขยะมูลฝอยชุมชน การขนส่งไปจนถึงการกำจัดขยะมูลฝอย รวมถึงการนำขยะมูลฝอยตกค้างไปกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ อีกทั้ง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดการมูลฝอย พ.ศ.๒๕๖๗ กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องรณรงค์สร้างความรับรู้ ความเข้าใจ และจิตสำนึกให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการลดปริมาณและคัดแยกขยะมูลฝอย เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก พ.ศ. ๒๕๖๑ ได้กำหนดแนวทางการรวมกลุ่มของประชาชนในท้องถิ่นที่มีจิตอาสาในการช่วยเหลืองานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยการปกป้องและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจ จุดประกาย กระตุ้น รวมทั้งเป็นการยกย่อง และเชิดชูเกียรติตลอดจนเป็นแรงผลักดันให้ประชาชน ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย การปกป้องและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนำไปขยายผลการดำเนินการให้มีต้นแบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม โดยผ่านอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการสานและเสริมพลังบุคคล ชุมชนและองค์การทุกภาคส่วนให้มีขีดความสามารถในการขับเคลื่อนสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่ดียิ่งขึ้น จึงได้จัดทำโครงการคัดเลือกอาสาสมัครห้องถิ่นรักษ์โลก ต้นแบบด้านการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย และการปกป้องและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประจำปี ๒๕๖๘ ขึ้น